General

7 ข้อควรรู้ วิธีออกแบบบ้านให้อยู่แล้วไม่ร้อน

ประเทศที่มีอากาศร้อนอย่างประเทศไทย ไม่ว่าจะอยู่ไหนหรือทำอะไรก็มักจะร้อนตลอดเวลา แต่จะดีกว่าไหมถ้าเรามีบ้านเย็นสบายให้อยู่ ถ้าใครกำลังวางแผนจะสร้างบ้านใหม่ให้อยู่แล้วไม่ร้อน ควรมีการออกแบบและเลือกวัสดุที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดอุณหภูมิภายในบ้าน บทความนี้เราจะแนะนำ 7 ข้อควรรู้ในการออกแบบบ้านที่อยู่แล้วไม่ร้อน เพื่อให้ทุกคนสร้างบ้านที่เหมาะสมกับสภาพอากาศได้ อยู่แล้วเย็นสบายตลอดทั้งปี เคล็ดลับออกแบบบ้านมีอะไรบ้าง มาดูกัน

1. เลือกใช้วัสดุและการออกแบบหลังคาให้เหมาะสม

หลังคาเป็นส่วนที่รับแสงแดดมากที่สุด การเลือกใช้วัสดุและการออกแบบที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญในการลดความร้อนที่เข้าสู่ตัวบ้าน ต้องเลือกวัสดุที่นทานต่อความร้อน สามารถสะท้อนความร้อน หรือระบายความร้อนได้ดี เช่น

  • เลือกหลังคาทรงสูง เช่น ทรงจั่ว หรือทรงปั้นหยาซึ่งช่วยระบายความร้อนออกจากพื้นที่ใต้หลังคาได้ดีกว่า
  • ใช้วัสดุหลังคาที่สะท้อนความร้อน เช่น กระเบื้องเคลือบเซรามิกหรือแผ่นเมทัลชีท
  • ติดตั้งฉนวนกันความร้อนใต้หลังคา ช่วยลดการแผ่รังสีความร้อนจากหลังคาสู่ฝ้าเพดาน
  • ออกแบบมุมหลังคาให้ลาดเอียง ประมาณ 45 องศา เพื่อให้แสงแดดสะท้อนออกและลดความร้อนที่เข้าสู่ตัวบ้าน

2. ลดความร้อนจากผนัง

ผนังเป็นอีกส่วนที่รับความร้อนจากภายนอกเข้าสู่บ้าน การเลือกวัสดุที่เหมาะสมและการออกแบบผนังจึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคุณสมบัติที่ช่วยป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน

  • เลือกใช้วัสดุผนังที่มีคุณสมบัติกันความร้อน เช่น อิฐมวลเบาหรือแผ่นคอนกรีตมวลเบา
  • ใช้สีอ่อนทาผนังภายนอก เพราะสีอ่อนๆ จะช่วยสะท้อนความร้อนได้ดี ลดการสะสมความร้อนภายในบ้าน
  • ติดตั้งแผงกันแดดหรือระแนงไม้ เพื่อป้องกันแสงแดดกระทบผนังโดยตรง
  • ปลูกต้นไม้ใหญ่ หรือไม้เลื้อยบริเวณผนังด้านที่รับแสงแดด เพื่อลดความร้อนเข้าบ้าน

3. เลือกตำแหน่งหน้าต่างให้เหมาะสม

หน้าต่างเป็นจุดที่แสงแดดสามารถส่องเข้ามาได้โดยตรง การเลือกและจัดวางตำแหน่งหน้าต่างจึงสำคัญมากที่จะช่วยทำให้บ้านร้อนหรือเย็น รวมถึงมีส่วนช่วยทำให้อากาศในบ้านถ่ายเทด้วย

  • เลือกใช้กระจกกันความร้อน เพื่อลดการแผ่รังสีความร้อนจากแสงแดด
  • จัดวางตำแหน่งหน้าต่างให้เหมาะสม เช่น ตำแหน่งที่ลมสามารถพัดผ่านได้ดี โดยเฉพาะในทิศเหนือและใต้
  • ติดตั้งม่านบังแดด หรือม่านกันแสงเพื่อช่วยลดความร้อนที่เข้ามาทางหน้าต่าง
  • ออกแบบหน้าต่างให้มีช่องเปิดหลายด้าน เพื่อเพิ่มการระบายอากาศภายในบ้าน

4. ออกแบบบ้านให้สอดคล้องกับทิศทางลมและแสงแดด

การวางตำแหน่งบ้านและห้องต่างๆ ควรดูทิศทางลมและแสงแดด ควรจัดวางตำแหน่งห้องให้เหมาะสมกับกิจวัตรประจำวัน เพื่อป้องกันปัญหาความร้อนสะสมในตัวห้อง ขณะที่ต้องใช้พักผ่อนหรือทำงาน

  • วางตำแหน่งบ้านตามแนวทิศเหนือ-ใต้ เพื่อให้ด้านยาวของบ้านรับแสงแดดน้อยลง
  • ออกแบบห้องน้ำและห้องครัวไว้ทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทิศที่ได้รับแสงแดดแรงที่สุดในช่วงบ่าย
  • ระมัดระวังอย่าให้ห้องนั่งเล่น หรือห้องนอนอยู่ทิศตะวันตก เพราะตอนเย็นๆ แสงแดดจะส่องห้องนอนเต็มที่ ทำให้ความร้อนสะสมจนไม่สะดวกต่อการนอน 

5. พื้นบ้านที่ช่วยลดความร้อน

การเลือกวัสดุปูพื้นที่ช่วยระบายความร้อนจะทำให้บ้านเย็นสบายมากขึ้น บ้านส่วนใหญ่ในไทยมักจะปูพื้นกระเบื้อง ซึ่งเป็นตัวเลือกที่ดี เพราะมีคุณสมบัติช่วยระบายความร้อน พื้นกระเบื้องตามบ้านเรือนมักจะมีความเย็นสบาย ต่างจากพื้นสไตล์ตะวันตกที่มักถูกออกแบบมาสำหรับบ้านโซนยุโรป

  • กระเบื้องระบายความร้อนเร็ว เช่น กระเบื้องเซรามิกหรือแผ่นหินธรรมชาติ
  • พื้นปูนเปลือยสไตล์ลอฟต์ ที่มีคุณสมบัติระบายความร้อนได้ดี
  • เลือกพื้นไม้ ที่มีคุณสมบัติป้องกันความร้อนจากแสงแดดและช่วยเก็บความเย็น

6. เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้บ้าน

การปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวจะช่วยให้บ้านเย็นและน่าอยู่มากขึ้น

  • จัดสรรพื้นที่สำหรับการปลูกต้นไม้ อย่างน้อย 20% ของพื้นที่ทั้งหมดเพื่อสร้างร่มเงาและความเย็นสบาย
  • ออกแบบพื้นที่กึ่งเปิด เช่น ระเบียงหรือชานบ้านที่ลมสามารถพัดผ่านได้ดี
  • ปลูกหญ้าคลุมดิน บริเวณพื้นที่โล่งเพื่อลดการสะท้อนความร้อนจากแสงแดด

7. เลือกรั้วบ้านที่ช่วยระบายอากาศ

รั้วบ้านที่เหมาะสมไม่เพียงแต่ช่วยรักษาความปลอดภัย แต่ยังช่วยลดความร้อนและเพิ่มการระบายอากาศในบริเวณรอบบ้านได้ด้วย

  • เลือกรั้วแบบโปร่ง เพื่อให้ลมสามารถพัดผ่านได้สะดวก
  • ใช้วัสดุรั้วที่ไม่สะสมความร้อน เช่น รั้วไม้หรือรั้วเหล็กที่มีช่องลม

การออกแบบบ้านให้อยู่เย็นสบายจะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่าง ทั้งการเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม การออกแบบบ้านให้สอดคล้องกับทิศทางลมและแสงแดด รวมถึงการจัดสรรพื้นที่สีเขียวเพื่อปลูกต้นไม้ สร้างร่มเงาให้กับบ้านของเรา สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้บ้านของเราเย็นสบาย ไม่ร้อนอบอ้าว สามารถพักผ่อนทั้งกายและใจได้อย่างสบายทั้งวัน

คำถามที่พบบ่อย

Back To Top